ด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา แจ้งว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติในที่ประชุม เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไป ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ จนถึง วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๙) สำหรับผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติมจากที่เคยผ่อนคลายไว้แล้ว (หรืออยู่ในช่วงมาตรการผ่อนคลายระยะที่ ๓) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้สามารถดำเนินชีวิตกลับมามีสภาพ ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตตามปกติ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กอปรกับ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด – ๑๙) ได้มีคำสั่งฉบับที่ ๔ / ๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓) ได้ระบุว่า ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
๑. การห้ามออกนอกเคหสถาน
ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา ๒๓.๐๐ – ๐๓.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น และให้ข้อยกเว้น การห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนด ฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ยังคงใช้บังคับต่อไป
สำหรับยานพาหนะผู้โดยสาร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ ที่เป็นการขนส่งคนหรือสินค้าระหว่างจังหวัด ที่เริ่มออกเดินทางจากจังหวัดต้นทางก่อนเวลา ๒๓.๐๐ น.และถึงจังหวัดปลายทางหลังเวลา ๐๓.๐๐ น.ของวันรุ่งขึ้น สามารถเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ในช่วงเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานได้
๒. การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา
เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียน ในปีการศึกษา 2563 ในระยะแรกนี้ ให้ทยอยผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา เพื่อจัดการศึกษา , การอบรม , การประชุม หรือเพื่อประโยชน์ในการสอบ หรือการคัดเลือกบุคคล ดังต่อไปนี้
๒.๑ การใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมของโรงเรียนนอกระบบ เฉพาะประเภทวิชาชีพ และประเภทศิลปะและกีฬา (เฉพาะประเภทกีฬาที่ผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมได้) โดยพิจารณาถึงจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียน ความพร้อม และความสามารถในการจัดรูปแบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น การจัดสถานที่และระบบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคเป็นสำคัญ
๒.๒ การใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อการประชุม , การจัดการสอบ , การสอบคัดเลือก , การฝึกอบรมระยะสั้นไม่เกิน ๑๕ วัน หรือดำเนินการอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด , การจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ รวมทั้งคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด
๓. การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติม จากที่ได้กำหนดไว้แล้ตามข้อกำหนด ฉบับที่ ๖ และฉบับที่ ๗ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้สถานที่หรือการดำเนินกิจกรรมที่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เคยมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว ตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ และตามข้อกำหนด ฉบับที่ ๕ สามารถเปิดดำเนินการ หรือทำกิจกรรมบางอย่าง เพิ่มเติมได้ทั่วราชอาณาจักร ตามความสมัครใจและความพร้อม โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทกิจกรรมใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
๓.๑ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิต
ก. ห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ น.
ข. ศูนย์แสดงสินค้า , ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการจัดประชุมการแสดงสินค้า หรือการจัดนิทรรศการได้ โดยเป็นกิจกรรมที่จำกัดพื้นที่รวมในการจัดงาน ขนาดไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร และเปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ น.
ทั้งนี้ ให้งดเว้นการจัดการแข่งขัน , กิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือการดำเนินการอื่น ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาชุมนุมกันหนาแน่น และอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบได้
ค. สนามพระเครื่อง , ศูนย์พระเครื่อง ให้เปิดดำเนินการได้ โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาชุมนุมกันหนาแน่น และอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบได้
ง. ร้านเสริมสวย , แต่งผม หรือตัดผมสำหรับบุรุษหรือสตรี ให้เปิดดำเนินการ โดยจำกัดเวลาการให้บริการในร้าน ไม่เกินรายละ ๒ ชั่วโมง และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน
จ. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน ให้เปิดได้เฉพาะการปฏิบัติงานที่จำเป็นของเจ้าหน้าที่ เพื่อการนัดหมาย , จัดสรร และแจกจ่ายเครื่องดื่มและอาหารกลางวัน และการจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
๓.๒ กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย , การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ
ก. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม , สถานเสริมความงาม , สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
ข. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ , สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย (งดเว้นการอบตัว , อบสมุนไพรหรืออบไอน้ำแบบรวม และการนวดบริเวณใบหน้า) , นวดฝ่าเท้า ยกเว้นสถานประกอบกิจการอาบน้ำ , สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
ค. สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดจำนวนผู้เล่น ในการเล่นแบบรวมกลุ่ม และงดเว้นการอบตัว หรืออบไอน้ำแบบรวม
ง. สถานที่ฝึกซ้อมมวย , โรงยิม หรือค่ายมวย ให้เปิดได้เฉพาะเพื่อการฝึกซ้อมการชกลม โดยไม่มีคู่ชก , การชกมวยแบบล่อเป้า โดยต้องไม่เป็นการแข่งขันและไม่มีผู้ชม
จ. สนามกีฬา ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกาย หรือการฝึกซ้อมในประเภทกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล , ฟุตซอล , บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล โดยต้องไม่เป็นการแข่งขัน และมีจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมที่อยู่ในบริเวณสนามกีฬา (ไม่นับรวมผู้เล่น) อีกไม่เกิน ๑๐ คน
ฉ. สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง , สเก็ต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะเพื่อการออกกำลังกายหรือการฝึกซ้อม
ช. สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ
ซ. สระน้ำ เพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็ตสกี , ไคท์เซิร์ฟ , เครื่องเล่นประเภทบานาน่าโบ๊ท ให้เปิดดำเนินการได้ โดยต้องไม่เป็นการแข่งขัน และจำกัดจำนวนผู้เล่น ตามจำนวนเครื่องเล่นและขนาดพื้นที่
ฌ. โรงภาพยนตร์ , โรงละคร , โรงมหรสพ ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน ๒๐๐ คน สำหรับโรงมหรสพในระยะแรกนี้ ให้เปิดเฉพาะการจัดแสดงลิเก , ลำตัด หรือการแสดงพื้นบ้านอื่น ๆ ก่อน โดยงดเว้นการจัดแสดงดนตรี หรือคอนเสิร์ต หรือกิจกรรมอื่นที่อาจมีความเสี่ยงต่อการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และการแพร่กระจายเชื้อ
ญ. สวนสัตว์หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมในพื้นที่จัดการแสดงที่เป็นการรวมกลุ่ม
๔. การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ
ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ , เจ้าของ , หรือผู้จัดการสถานที่ในข้อ ๒ หรือข้อ ๓ มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งดำเนินการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามคำแนะนำ , เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือตามที่ทางราชการกำหนด
ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ตามข้อ ๒ และการดำเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตามข้อ ๓ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่ อาจให้คำแนะนำ , ตักเตือน , ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลา เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ,เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ ดำเนินการ ปรับปรุง , แก้ไข , ป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มี คำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ เมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ,เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด และจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ แล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มีอำนาจสั่งให้เปิดดำเนินการในสถานที่ดังกล่าวได้
๕. การผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด