ด้วย กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน มีการระบาดอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ กลไกหลักที่สำคัญ คือ ความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งได้นำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลาย เสนอต่อที่ประชุมของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร. เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ บรรจุเป็นกิจกรรมหนึ่งในการดำเนินงานของจิตอาสา เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และสร้างความตระหนักให้กับประชาชนทั่วไปในการเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยมีแนวทางปฏิบัติสำหรับจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. ลงมือทำด้วยตนเอง ทำทันที ได้แก่
- สำรวจ และกำจัดลูกน้ำในบ้านของตนเอง พร้อมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น คว่ำถ้วยชาม , กะละมัง ไม่ให้น้ำขัง ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ และเก็บเศษขยะ ดูแลภาชนะที่ไม่ใช้แล้วไม่ให้มีน้ำขัง และหมั่นขัดทำความสะอาดภาชนะที่ใช้บรรจุทุก ๗ วัน
- เก็บบ้าน ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ ดูแลที่พักอาศัยให้ปลอดโปร่ง มีอากาศ ถ่ายเทได้สะดวกอย่างสม่ำเสมอ
๒. ร่วมสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ โดยเฉพาะบ้าน , วัด , โรงเรียน , โรงแรม , โรงงาน , โรงพยาบาล โดยใช้ไฟฉายส่องดูภาชนะและวัสดุต่าง ๆ ที่สามารถขังน้ำได้ หากพบลูกน้ำต้องรีบแจ้งเจ้าบ้านหรือเจ้าของพื้นที่ พร้อมแนะนำวิธีการกำจัดที่เหมาะสม ดังนี้
- โอ่งใส่น้ำดื่ม - น้ำใช้ ควรมีฝาปิดให้มิดชิด
- ถังพลาสติกเก็บน้ำ บ่อเก็บน้ำในห้องน้ำ - ห้องส้วม ควรปิดฝาให้มิดชิด หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ
- แจกันดอกไม้สด , หิ้งพระ , ศาลพระภูมิ ควรเปลี่ยนน้ำทุก ๗ วัน
- ภาชนะเลี้ยงพลูด่างหรือพืชน้ำอื่น ๆ ควรเปลี่ยนน้ำทุก ๗ วัน หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ
- ถาดรองขาตู้กับข้าว ควรใส่เกลือแกงหรือผงซักฟอก
- จานรองกระถางต้นไม้ ไม่ให้มีน้ำขังหรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ
- ยางรถยนต์ ไม่ให้มีน้ำขังหรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ
- อ่างบัว ควรปล่อยปลากินลูกน้ำหรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ
- เศษวัสดุที่ขังน้ำได้ ควรคว่ำภาชนะเพื่อไม่ให้มีน้ำขังหรือทำลายทิ้ง
๓. ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนในเรื่อง การดูแลความสะอาดบ้านตนเองไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ยุงลาย และการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ถูกยุงกัด
๔. หากพบผู้ป่วยสงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ให้แนะนำไปพบแพทย์และแจ้งพิกัดให้หน่วยงานภาครัฐทราบ