ด้วย สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙) มีแนวโน้มการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเข้าสู่หมู่บ้าน / ชุมชน ตลอดจนเพื่อป้องกันกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ง่ายต่อการติดเชื้อที่อยู่ในหมู่บ้าน / ชุมชน ดังนั้น จึงได้ออกมาตรการป้องกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด -๑๙)เข้าสู่หมู่บ้าน / ชุมชน โดยมีกำนัน และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ดำเนินการในการค้นหาและเฝ้าระวังคนในพื้นที่หมู่บ้าน / ชุมชน ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙) ทุกแห่งในเขตอำเภอบางปะกง โดยมีรายละเอียดดังนี้
๑. มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่หมู่บ้าน / ชุมชน
๑.๑ การคัดกรองผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง
จะมีการบูรณาการความร่วมมือของบุคลากรในหมู่บ้าน / ชุมชน ทุกภาคส่วน ได้แก่ ข้าราชการ , สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน / ชุมชน , ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน , สารวัตรกำนัน , แพทย์ประจำตำบล , คณะกรรมการหมู่บ้าน , อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) , อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ฯลฯ ร่วมกันค้นหาและคัดกรองว่ามีคนในหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้าน / ชุมชน หรือไม่ ดังนี้
(๑) ผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร , ต่างประเทศ , ประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีการเดินทางไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ที่มีคนแออัดเบียดเสียด ได้แก่ สนามมวย , สนามกีฬา , สนามม้า , สนามชนโค , สนามชนไก่ , สถานบันเทิง , หรือการไปร่วมกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ฯลฯ ตั้งแต่วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นมา
(๒) ผู้ที่อยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙) หรือไปร่วมอยู่ในสถานที่ที่ ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙) ไปปรากฏตัว
๑.๒ การปฏิบัติในกรณีที่หมู่บ้าน / ชุมชนใด มีผู้ที่เข้าข่ายตามข้อ ๑.๑
เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ จะจัดทำบัญชีรายชื่อตามเอกสารแนบท้าย เพื่อเฝ้าติดตามสังเกตอาการ เป็นระยะเวลา ๑๔ วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้นั้นให้งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ นอกหมู่บ้าน / ชุมชน ไว้ก่อน หรือพักอาศัยอยู่แต่ในบ้านเรือน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ จะรายงานข้อมูลดังกล่าวให้เทศบาล เพื่อติดตามและเฝ้าระวัง พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้อำเภอทราบ เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าระบบรายงาน
๒. มาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อภายในหมู่บ้าน / ชุมชน
๒.๑ การแจ้งเตือนราษฎรในหมู่บ้าน
เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการแจ้งเจ้าบ้าน หรือผู้ดูแลบ้าน ให้เฝ้าระวังโรคติดต่อภายในบ้าน หากกรณีมีผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ อยู่ในบ้าน ให้รีบแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อโดยทันที
๒.๒ กรณีบุคคลที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร , ต่างประเทศ , ประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีการเดินทางไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ที่มีคนแออัดเบียดเสียดตามข้อ ๑.๑ (๑) มีอาการป่วย
ให้นำตัวผู้นั้นเข้ารับการรักษาและประเมินอาการ ว่า เข้าข่ายสงสัยเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือไม่ หากเข้าข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อ ให้ดำเนินการตามมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด
๒.๓ กรณีบุคคลเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือไปร่วมอยู่ในสถานที่ที่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ไปปรากฏตัว ตามข้อ ๑.๑ (๒)
ให้ดำเนินการตามมาตรการคัดกรอง , แยกกัก , กักเก็บ หรือคุมไว้สังเกตอาการ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด
๒.๔ กรณีคนในหมู่บ้าน / ชุมชน ได้รับการยืนยันว่า เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
ให้ดำเนินการกับผู้ที่อยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วย ตามแนวทางในข้อ ๒.๓ และให้เข้าไปดำเนินการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อไปทำกิจกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโดยเร็ว
๓. การป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้าน / ชุมชน
ให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังในหมู่บ้าน /ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ได้ง่าย ให้หลีกเลี่ยงการพบปะ และสัมผัสบุคคลที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร , ต่างประเทศ , ประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีการเดินทางไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ที่มีคนแออัดเบียดเสียด ตามข้อ ๑.๑ (๑) และบุคคลที่เป็นผู้ที่อยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือไปร่วมอยู่ในสถานที่ที่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ไปปรากฏตัว ตามข้อ ๑.๑ (๒) ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาเฝ้าสังเกตอาการ ๑๔ วัน รวมทั้งงดกิจกรรมนอกบ้าน และงดการไปในที่ชุมชน