ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ จนถึง วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น
ในการนี้ เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้ออกประกาศมาตรการต่าง ๆ ดังนี้
๑. มาตรการสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
ให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด ๑๙ ได้ง่าย อยู่ในเคหสถานหรือบริเวณสถานที่พำนักของตน เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมภายนอก และให้ผู้ดูแลบุคคลดังกล่าวปฏิบัติ ดังนี้
๑.๑ กรณีมีผู้สูงอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไปอยู่ในความดูแล ให้ผู้ดูแลและ / หรือบุคคลในครอบครัวที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุดังกล่าว ปฏิบัติดังนี้
- สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ , แอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ก่อนและหลังการสัมผัสผู้สูงอายุและหรือเครื่องใช้ของผู้สูงอายุ
- ให้เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสิ่งของเครื่องใช้ของผู้อายุ และบริเวณสถานที่ที่ผู้สูงอายุอาศัย
- งดให้ผู้สูงอายุเดินทางไปในสถานที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด
- ให้แยกเครื่องใช้ส่วนบุคคล เช่น จาน , ชาม , ช้อน ฯลฯ ของผู้สูงอายุออกจากบุคคลอื่น
๑.๒ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน , โรคความดันโลหิตสูง , โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง , โรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคภูมิแพ้ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำตามธรรมชาติของโรคและด้วยยาที่ใช้รักษาโรค ขอให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า พร้อมทั้งหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ , แอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและผู้อื่น
๑.๓ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่าห้าปีลงมา ให้ผู้ปกครองดูแลและ / หรือคนในครอบครัว โดยการใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ดูแลเด็กเล็ก หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ , แอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค อีกทั้งให้เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ และงดพาเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่าห้าปีลงมา ไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด
ทั้งนี้ เว้นแต่บุคคลดังกล่าว มีความจำเป็นเพื่อการพบแพทย์ , การรักษาพยาบาล , การปฎิบัติหน้าที่แพทย์ /พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ , การปฎิบัติงานหรือการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์และสถาบันการเงิน , ตู้เอทีเอ็ม , การสื่อสารมวลชน , โทรคมนาคมและไปรษณีย์ , การให้บริการขนส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้าเพื่อบริโภค อุปโภค , การ จัดหาและซื้อขายอาหาร , การติดต่อด้านคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ / พนักงานอัยการ หรือศาลตามความจำเป็น หรือการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานตามข้อกำหนด , ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแต่งตั้ง หรือมอบหมาย เว้นแต่จะมีการประกาศผ่อนผันหรือกำหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาเป็นประการอื่น
อนึ่ง ให้ผู้ดูแลและ / หรือบุคคลในครอบครัว พยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยในระยะใกล้ชิด ไม่น้อยกว่า ๑ เมตร หรือสัมผัสกับกลุ่มบุคคลที่อยู่อาศัยในครอบครัว ได้แก่ ผู้สูงอายุ , กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่าห้าปีลงมา หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขอให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในการพูดคุยกันทุกครั้ง
๒. มาตรการป้องกันโรค
๒.๑ สำหรับกรณีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคาร หรือจุดบริการเอทีเอ็ม ให้ธนาคารเจ้าของตู้เอทีเอ็ม หรือเอกชนผู้รับผิดชอบการให้บริการตู้เอทีเอ็ม ดำเนินการดังนี้
- จัดที่นั่งให้ผู้รับบริการ โดยเว้นระยะห่างกันไม่น้อยกว่า ๑ เมตร
- กำหนดจุดยืนและติดสัญลักษณ์บนพื้น (สติกเกอร์หรือกระดาษ) ห่างกันไม่น้อยกว่า ๑ เมตร
- ให้พนักงานของธนาคารทุกคน สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน
- จัดเตรียมแอลกอฮอล์ เจลล้างมือ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ให้ผู้ใช้บริการล้างมือก่อนและหลังใช้บริการ
๒.๒ หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมหรือชุมนุม ที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเกินกว่า ๕ คน หากจำเป็นต้องอยู่ในที่ชุมนุม ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ , แอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และ หลีกเลี่ยงการสัมผัสระหว่างกัน รวมทั้ง เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย ๑ เมตร
๒.๓ ในที่สาธารณะ ให้รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย ๑ เมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส หรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย
๒.๔ การออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น การวิ่งออกกำลังกาย ให้เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่น้อยกว่า ๓ เมตร
๓. มาตรการห้ามกักตุนสินค้า
ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้า ซึ่งเป็นยา , เวชภัณฑ์ , อาหาร , น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภค บริโภค ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ก็ตาม สำหรับกรณีที่เป็นสินค้าควบคุมการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ปริมาณการผลิต การควบคุมราคาจำหน่าย และการส่งออกไปนอก ราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและไม่เกิดภาวะ ขาดแคลน หรือเดือดร้อนเกินสมควร โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ตรวจและควบคุมดูแลผู้ประกอบการดังกล่าวอย่าง เคร่งครัด ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง