องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายในการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่าง ถูกต้อง โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดมูลฝอย ซึ่งเกิดจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เป็นจำนวนมาก และมูลฝอยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดและป้องกันการแพร่ของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ รวมถึงเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ดังนั้น เทศบาลตำบลท่าข้าม จึงมีคำแนะนำในการจัดการมูลฝอยสำหรับประชาชน ดังนี้
๑. รับรู้และตระหนักถึงการจัดการมูลฝอยที่ถูกต้อง มีส่วนช่วยป้องกัน และลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังผู้อื่นและชุมชน
๒. จัดเตรียมภาชนะรองรับหรือถุงขยะให้เพียงพอ โดยแยกตามประเภทมูลฝอย สำหรับประชาชนทั่วไปให้คัดแยก มูลฝอยในครัวเรือนเป็น ๓ ประเภท ได้แก่
๒.๑ มูลฝอยทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก , ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมนำไปทิ้งลงถังที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
๒.๒ มูลฝอยรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว , ขวดพลาสติก เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ก่อน และรอจัดการในภายหลัง
๒.๓ มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน เช่น ภาชนะบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อ , ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ , กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ในภาชนะรองรับ เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
ทั้งนี้ ให้นำมูลฝอยแต่ละประเภท ไปทิ้งในจุดรวบรวมมูลฝอยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมไว้ หรือตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
๓. กรณีมีผู้ที่แยกสังเกตอาการที่บ้าน ให้แยกจัดการมูลฝอยจากครัวเรือน โดยดำเนินการ ดังนี้
๓.๑ มูลฝอยทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก , ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว , ขวด เป็นต้น ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมใส่ถุงขยะ มัดปากถุงให้แน่น และนำไปทิ้งลงถังมูลฝอยที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
๓.๒ มูลฝอยประเภทปนเปื้อนน้ำมูก , น้ำลาย , สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย , กระดาษทิชชู เป็นต้น ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ ๒ ชั้น ซึ่งถุงขยะใบแรกที่บรรจุมูลฝอยแล้ว ให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก ๑ ชั้น และมัดปากถุงให้แน่นอีกครั้ง เพื่อนำไปทิ้งรวมกับมูลฝอยทั่วไป หรือเก็บรวบรวมแยกไว้เฉพาะ ตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
๔. ภายหลังจัดการมูลฝอยแล้ว ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ เจล ทันที
๕. สอดส่อง แนะนำบุคคลในครอบครัวและเพื่อนบ้าน ให้มีการคัดแยกมูลฝอยและปฏิบัติที่ถูกต้อง หากพบว่ามีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง อาจใช้กลไกของชุมชน เช่น อสม. , ผู้ใหญ่บ้าน หรือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามที่กำหนด และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค