ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๖) ประกาศ ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ระบุว่า สามารถผ่อนคลายให้ดำเนินการ หรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย หรือการดูแลสุขภาพ โดยให้เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่รับผิดชอบการดูแล รักษาความสะอาดของสถานที่ ภาชนะ และอุปกรณ์ที่ใช้ และจัดให้มีมาตรการป้องกันโรค ตามที่ทางราชการกำหนด ตลอดจนจัดระบบอื่น ๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทางราชการกำหนด โดยข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ตั้งแค่วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป นั้น
ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้กำหนดคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลา แก่เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ เพื่อจัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา ๒๐๑๙ หรือโรคโควิด ๑๙ จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้
๑. สถานที่ สถานประกอบการ หรือกิจกรรมใด ซึ่งเคยมีคำสั่งให้ปิด หรือจำกัดการดำเนินการชั่วคราว หรือเคยผ่อนผันโดยมีเงื่อนไขไว้ ในระยะแรกนี้ ให้เปิดดำเนินการได้ตามความสมัครใจและความพร้อม ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ดังต่อนี้
๑.๑ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ได้แก่
ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม , ท่าอากาศยาน , สถานีรถไฟ , สถานีขนส่ง , โรงพยาบาล , ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม , ร้านสะดวกซื้อ , รถเข็น , หาบเร่ , แผงลอย ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ , ผับ , บาร์ ให้เปิดได้ โดยอาจนำกลับไปบริโภคที่อื่น แต่หากเปิดให้ใช้บริการในสถานที่นั้น ก็สามารถทำได้ โดยต้องจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค และคำแนะนำของทางราชการ
ข. ห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต , ร้านขายยา , สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม , ธนาคาร , ที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนแผนกร้านอาหาร ให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่น
ค. ร้านค้าปลีก / ค้าส่งขนาดย่อม , ร้านค้าปลีก / ค้าส่งชุมชน , ตลาด , ตลาดน้ำ และตลาดนัด ให้เปิดได้ โดยต้องควบคุมทางเข้าออก จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ การเว้นระยะห่างในการเลือกสินค้าและการชำระราคา
ง. ร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผมสำหรับบุรุษหรือสตรี ให้เปิดได้เฉพาะกิจกรรมสระ , ตัด , ซอยผม , แต่งผม และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน
๑.๒ กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ ได้แก่
ก. โรงพยาบาล , คลินิก , สถานทันตกรรม หรือสถานพยาบาลทุกประเภท ที่จัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย
ข. สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ให้เปิดได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกัน หรือเป็นการแข่งขัน ในกรณีของสโมสร ,คลับเฮ้าส์ หรือร้านอาหารในบริเวณดังกล่าว ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม , สถานีรถไฟ , สถานีขนส่ง , โรงพยาบาล , ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม , ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ค. สนามกีฬาเฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้ง และตามกติกาสากล ผู้เล่นต้องมีระยะห่างทางสังคม และไม่คลุกคลีกันอยู่แล้ว เช่น เทนนิส , ขี่ม้า , ยิงปืน , ยิงธนู เป็นต้น และต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกัน หรือเป็นการแข่งขัน ในกรณีของสโมสร , คลับเฮ้าส์ หรือร้านอาหารในบริเวณดังกล่าว ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม , สถานีรถไฟ , สถานีขนส่ง , โรงพยาบาล , ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม , ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ง. สวนสาธารณะ , ลานพื้นที่กิจกรรมสาธารณะ , สถานที่ออกกำลังกาย , สนามกีฬา , ลานกีฬา ให้เปิดได้เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้ง เพื่อการเดิน , วิ่ง , ขี่หรือปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นเป็นส่วนบุคคล โดยไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกัน หรือเป็นการแข่งขัน , การละเล่น , การแสดง
จ. สถานที่ให้บริการดูแล รักษาสัตว์ , สปา , อาบน้ำ , ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์
๒. ให้เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตามข้อ ๑ ทุกประเภท มีหน้าที่รับผิดชอบการดูแล รักษาความสะอาดของสถานที่ , ภาชนะ และอุปกรณ์ที่ใช้ และต้องมีมาตรการป้องกันโรค ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโรคโควิด ๑๙ ฉบับที่ ๒ / ๒๕๖๓ ประกาศ ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยเคร่งครัด
๓. ให้เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตามข้อ ๑ พิจารณาควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ หรือผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่ให้แออัด หรือลดเวลาการให้บริการ หรือทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสม โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน และให้ปิดการให้บริการตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐ - ๐๔.๐๐ น.ของวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ การให้ปิดบริการในห้วงเวลา ดังกล่าว ไม่รวมถึงโรงพยาบาล , คลินิก , สถานทันตกรรม หรือสถานพยาบาลทุกประเภท
๔. เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตามข้อ ๑ จะต้องให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ , เจ้าพนักงานควบคุมโรค หรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่งตั้งหรือมอบหมายในการเข้าตรวจ และให้คำแนะนำ หรือตักเตือน ห้ามปรามได้ตลอดเวลา