ตามที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีคำสั่งให้ปิดห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า (เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต , ร้านขายยา , สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต , ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม , ธนาคาร , ที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนแผนกร้านอาหาร ให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่น)โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป นั้น
ซึ่งปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๘ ฉบับที่ ๗ ข้อ ๓ การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ โดยกำหนดให้ “ห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการเพิ่มเติมได้ในส่วนที่เป็นการจำหน่ายสินค้า เพื่อการอุปโภค บริโภค และการให้บริการ รวมทั้งร้านอาหารและเครื่องดื่ม แต่ห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน , ร้านเสริมสวย , แต่งผม , ตัดผมหรือทำเล็บ ยกเว้นส่วนที่เป็นโรงมหรสพ , โรงภาพยนตร์ , สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง , ตู้เกมส์ , เครื่องเล่นหยอดเหรียญ , สถานที่เล่นสเก็ต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน , คาราโอเกะ , สวนสนุก , สวนน้ำ , สวนสัตว์ , สนุกเกอร์ , บิลเลียด , ร้านเกมส์ , สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส , สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ , สถานประกอบการนวดแผนไทย , นวดฝ่าเท้า , สถาบันกวดวิชา , สนามพระเครื่อง , ศูนย์ประชุม ทั้งนี้ พื้นที่และกิจกรรมที่เปิดดำเนินการได้ ให้งดเว้นการจัดการแข่งขัน , กิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือการดำเนินการอื่นใดที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาชุมนุมกันหนาแน่น และให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น.”
ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงออกข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค เพื่อให้เจ้าของหรือผู้จัดการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องของห้างสรรพสินค้า ,ศูนย์การค้า ,คอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ปฏิบัติตามข้อกำหนด ดังนี้
๑. ให้ผู้ให้บริการ , ผู้ใช้บริการ , เจ้าของ , ผู้จัดการ และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่เข้าไปในห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ปิดปากและจมูกตลอดเวลาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ ยกเว้นขณะนั่งรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม และห้ามเดินรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม
๒. ให้ผู้ให้บริการ , เจ้าของ , และผู้จัดการ จัดอุปกรณ์สำหรับการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ไว้บริการแก่ผู้ใช้บริการ และผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง รวมถึงให้ผู้ใช้บริการ และผู้เกี่ยวข้อง ล้างมือทุกครั้งก่อนเข้า ห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์
๓. ให้เจ้าของ หรือผู้ประกอบการ หรือผู้จัดการ จัดให้มีการดำเนินการ เพื่อลดความแออัดของผู้ใช้บริการ ในพื้นที่ที่ให้บริการประชาชน ในอัตราความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ ๑ คน ต่อพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า ๑ ตารางเมตร ในแต่ละหน่วยบริการ (หมายถึงในพื้นที่แต่ละแผนก หรือแต่ละร้านค้า หรือสถานประกอบการ หรือส่วนบริการรวมที่ ห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ จัดให้มี เช่น ห้องน้ำสาธารณะ , ทางเดินร่วม , พื้นที่ส่วนกลาง หรือใช้ประโยชน์ทั่วไป เป็นต้น) ไม่รวมถึงพื้นที่สำหรับผู้ให้บริการ
การเข้าแถว , เข้าคิว เพื่อชำระเงินค่าสินค้า หรือรอรับการบริการ ให้เจ้าของ หรือผู้ประกอบการ หรือผู้จัดการ ห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ ต้องจัดการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่น้อยกว่า ๑ - ๒ เมตร ในกรณีที่มีผู้ใช้บริการเข้าแถวเป็นจำนวนมาก และล้นออกนอกพื้นที่บริการของหน่วยบริการ ให้ห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ ร่วมกับหน่วยบริการดำเนินการจัดการตามข้อ ๓
๔. มีมาตรการคัดกรองอาการป่วย , ไข้ , ไอ , จาม หรือเป็นหวัด สำหรับผู้ให้บริการ , ผู้ใช้บริการ , เจ้าของ , ผู้จัดการ และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตามขีดความสามารถ
๕. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานที่จำหน่ายอาหาร
๖. กรณีการใช้บริการบันไดเลื่อน และลิฟต์ขนส่ง ให้เว้นระยะห่างโดยยืน ๑ ขั้น เว้น ๑ ขั้น รวมทั้งแบ่งพื้นที่การยืนภายในลิฟต์ เพื่อให้เว้นระยะห่างทางสังคม ยกเว้นผู้ใช้บริการที่เป็นกลุ่มเสี่ยงร่วม เช่น บุคคลในครอบครัวเดียวกัน