ด้วยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทย ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ปี ๒๕๖๓ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม - ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พบผู้ป่วยสะสมจำนวน ๗,๑๓๔ ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน ๔ ราย และคาดว่าจะมีการระบาดต่อเนื่องจากปลายปี ๒๕๖๒ โดยผู้ป่วยจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน และสูงสุดในเดือนกรกฎาคม รวมทั้งจากการสำรวจลูกน้ำยุงลาย พบว่า ในชุมชนและสถานที่สำคัญ ที่มีการรวมตัวของประชาชน ได้แก่ สถานศึกษา , ศาสนสถาน , โรงพยาบาล , สถานที่ราชการ , โรงงาน เป็นต้น ยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่น ๆ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่น ๆ ไม่ให้มีการระบาดใน วงกว้าง เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ดังนั้น จึงขอความร่วมมือทุกท่านช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ดังนี้
๑. เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ในการจัดการสิ่งแวดล้อม และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่ ๗ ร. ได้แก่ โรงเรียน , โรงเรือน , โรงธรรม , โรงพยาบาล , โรงแรม , โรงงาน และสถานที่ราชการอย่าง สม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้ทุกพื้นที่ปลอดลูกน้ำยุงลาย พร้อมทั้งขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญในการระมัดระวัง และป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่อโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก , ผู้สูงอายุ , ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และป้องกันการระบาดของโรคติดต่อในระดับพื้นที่
๒. ประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันและควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เกี่ยวกับความรู้และอาการสำคัญของ ผู้ป่วยไข้เลือดออกในหลากหลายช่องทาง เช่น ประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย หรือหอกระจายข่าว , แผ่นพับ , ป้ายประกาศ ให้ประชาชนในพื้นที่ , บุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก , โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , สถานที่ราชการ และศาสนสถาน ให้ทราบถึงอาการสำคัญและวิธีการป้องกันโรค โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการจัดทำแผนงาน ในการดำเนินงานป้องกันโรค รวมถึงเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ หากมีอาการเจ็บป่วย ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามา รับประทานเอง และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และวิธีการรักษาให้ถูกต้อง
๓. พิจารณาจัดกิจกรรมรณรงค์จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยขอความร่วมมือจิตอาสาในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม เช่น ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว เรื่อง ป้องกัน ไข้เลือดออก และพิจารณาจัดกิจกรรม Big Cleaning เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งบริเวณภายในและภายนอก หน่วยงาน เก็บภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุงลาย สำหรับภาชนะที่เก็บน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ ในการจัดกิจกรรมให้คำนึงถึงการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ โดยให้ถือปฏิบัติภายใต้ข้อกำหนดแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม อย่างน้อย ๑ เมตร สถานที่จัดกิจกรรมต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งหรือไม่แออัด ใช้ระยะเวลาไม่นาน และมีมาตรการป้องกันโรค ตามที่ทางราชการกำหนด
๔.กรณีพบผู้ป่วยในชุมชน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับ หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ปฏิบัติการควบคุมการระบาดของโรค โดยการกำจัดลูกน้ำและยุงลายตัวเต็มวัย ในรัศมี ๑๐๐ เมตร รอบบ้านที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ภายใน ๒๔ ชั่วโมงแรกที่ได้รับการยืนยันอาการ จากการสอบสวนโรคว่ามีผู้ป่วยในพื้นที่
การรายงานผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออก
๑. เฝ้าระวังผู้ที่มีอาการ ทั้งบุคลากรภายในหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเรียน , นักท่องเที่ยว , นักบวช โดยมีนิยามผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออก ดังนี้
เด็ก : มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอยเกินกว่า ๒ วัน , อ่อนเพลีย อาจมีอาการหน้าแดง , มีผดผื่นขึ้น , หรือคลื่นไส้ , อาเจียน , ปวดท้อง
ผู้ใหญ่ : มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอยเกินกว่า ๒ วัน , อ่อนเพลีย , กินได้น้อย หรือคลื่นไส้ , อาเจียน , ปวดท้อง
๒. หากพบผู้ป่วยที่เข้านิยามผู้ป่วยสงสัยดังกล่าว ต้องรีบส่งตัวไปรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาที่โรงพยาบาล และแจ้งสถานพยาบาลของรัฐ หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ / จังหวัดในพื้นที่ทันที เพื่อสามารถควบคุมโรคได้ทันเวลา
๓. ห้ามจ่ายยาลดไข้ชนิดลดการอักเสบ (NSAIDs) เช่น ไอบรูโปรเฟน , แอสไพริน ให้ผู้ป่วยรับประทาน