ด้วย นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไป และข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๐)เพื่อผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙) ช่วงที่ ๔ ต่อเนื่องจากการผ่อนคลายที่ดำเนินการมาก่อนแล้วเป็นลำดับ ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร เฉพาะเหตุอันเนื่องจากสถานการณ์ โควิด -๑๙ ตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ น.ของวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๓ และผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดรวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำของทางราชการ ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานตามข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙) จึงมีคำสั่งฉบับที่ ๕ / ๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๓ เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๔) ซึ่งระบุว่า ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๓ เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
๑. การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน
เพื่อเป็นมาตรการผ่อนคลายและบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน จึงให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร เฉพาะเหตุอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด - ๑๙ ตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ น. ของวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓
๒. การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียน ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ จึงผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพิ่มเติมจากที่ได้กำหนดไว้แล้ว โดยให้โรงเรียนในระบบ ประเภทนานาชาติ ,สถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ ,โรงเรียนนอกระบบ ประเภทกวดวิชา ,โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน รวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน ๑๒๐ คน สามารถใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมได้ โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ต้องดำเนินการจัดรูปแบบการเรียนการสอน ,สถานที่ รวมทั้งบุคลากรและเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อม สอดคล้องกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมถึงจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการติดโรค , การแพร่กระจายเชื้อ และความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ
ส่วนการเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียน ,สถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น แล้วแต่กรณีกำหนด
๓. การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมจากที่ได้กำหนดไว้แล้ว ให้สถานที่หรือการดำเนินกิจกรรมที่เคยมีข้อกำหนด หรือคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ และตามข้อกำหนด ฉบับที่ ๕ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สามารถเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้ทั่วราชอาณาจักร ตามความสมัครใจและความพร้อม โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทกิจกรรมใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
๓.๑ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต มีทั้งหมด ๕ กิจกรรม ดังนี้
ก. การจัดการประชุม , การอบรม , การสัมมนา , การจัดนิทรรศการ , การจัดแสดงสินค้า , การจัดเลี้ยง , งานพิธี , การแสดง , นาฏศิลป์ , ดนตรี , คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม , โรงมหรสพ , ห้องประชุม , ศูนย์ประชุม , ศูนย์แสดงสินค้า , โรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่น ๆ ให้สามารถดำเนินการได้
ข. การบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร , สวนอาหาร , โรงแรม , ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และได้ผ่อนคลายให้เปิดดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว ให้สามารถทำได้ ภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
ในส่วนของสถานบริการ , สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ , ผับ , บาร์ , คาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ
ค. สถานรับเลี้ยงเด็ก , ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก , สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย , ศูนย์เด็กพิเศษ , สถานดูแลผู้สูงอายุ , สถานที่บริการดูแล , สถานที่พำนักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่น ที่จัดสวัสดิการให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ สามารถเปิดดำเนินการให้บริการแบบรายวันได้ แบบเดินทางไปกลับ
ง. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา , อุทยานวิทยาศาสตร์ , ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
จ. การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ , ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ให้ดำเนินการได้ โดยมีจำนวนผู้แสดง , ผู้ร่วมรายการและคณะทำงานถ่ายทำ รวมกันไม่เกินคราวละ ๑๕๐ คน และมีผู้ชมไม่เกิน ๕๐ คน
๓.๒ กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย , การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ มีทั้งหมด ๕ กิจกรรม ดังนี้
ก. การอบตัว , อบสมุนไพร , การอบไอน้ำแบบรวม หรือการนวดบริเวณใบหน้า ในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ , สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้ดำเนินการได้ ยกเว้นในส่วนของสถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ
ข. การออกกำลังกายแบบกลุ่มในสวนสาธารณะ , ลานกิจกรรม , พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ หรือลานกีฬากลางแจ้ง ให้ดำเนินการได้
ค. สวนน้ำ , สนามเด็กเล่น , สวนสนุก ให้ดำเนินการได้ ยกเว้นการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราว หรือเครื่องเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสมาก ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคในเด็ก เช่น บ้านบอล , บ้านลม เป็นต้น
ง. สนามกีฬา หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย , การเล่นกีฬา หรือเพื่อการเรียนการสอนในทุกประเภทกีฬา ให้เปิดดำเนินการได้ ยกเว้น สนามชนโค , สนามชนไก่ , สนามกัดปลา หรือสนามการแข่งขันอื่น ในลักษณะทำนองเดียวกัน ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ
สถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลาย สามารถจัดให้มีการแข่งขันและถ่ายทอดทางโทรทัศน์การแข่งขันกีฬา หรือการถ่ายทอดผ่านสื่ออื่น ๆ ได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน และผู้จัดการแข่งขัน ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่ทางราชการกำหนดด้วย
จ. ตู้เกม , เครื่องเล่นหยอดเหรียญ ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้
๔. การขนส่งสาธารณะข้ามเขตพื้นที่จังหวัด
เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการเดินทางของประชาชน ภายหลังมาตรการผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรวจสอบและกำกับดูแลการขนส่งผู้โดยสาร ที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท (รถโดยสารประจำทาง , รถปรับอากาศ , รถตู้ , รถไฟ , เรือ , เครื่องบิน) โดยผู้ประกอบการต้องจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งให้มีการจอดพักรถ , การเว้นที่นั่ง และการจำกัดจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยว ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
๕. การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ
ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ , เจ้าของ , หรือผู้จัดการสถานที่ในข้อ ๒ หรือข้อ ๓ มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งดำเนินการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามคำแนะนำ , เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือตามที่ทางราชการกำหนด
ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ตามข้อ ๒ และการดำเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตามข้อ ๓ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่ อาจให้คำแนะนำ ,ตักเตือน , ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลา เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ,เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ ดำเนินการ ปรับปรุง , แก้ไข , ป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มี คำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ เมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ , เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด และจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ แล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มีอำนาจสั่งให้เปิดดำเนินการในสถานที่ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น