ด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา แจ้งว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ ๓ จนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น
ซึ่งรัฐบาลเห็นว่า การยังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในคราวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้สามารถบูรณาการความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การระบาดของโรคในต่างประเทศยังไม่เป็นที่น่าวางใจ ประกอบกับ ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีการเปิดสถานศึกษา , การเปิดใช้ท่าอากาศยาน , การเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร , การเปิดสถานบริการ , สถานบันเทิง , สถานที่แข่งขันกีฬา , แหล่งท่องเที่ยว และสถานที่อื่น ๆ หลายแห่งที่มีความเสี่ยงสูงและยังเหลืออยู่ อีกทั้ง ยังมีวันหยุดราชการต่อเนื่องกันหลายวัน อาจมีการเดินทางและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการรวมกลุ่มกันหนาแน่นมากกว่าปกติจนเกิดความประมาท ไม่นำพาต่อมาตรการป้องกันโรค จนเป็นเหตุให้เกิดการระบาดรอบใหม่ได้เหมือนในบางประเทศ
ดังนั้น ในขณะที่ผ่อนคลายมาตรการตามข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นระยะที่ ๕ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมได้ตามแนวชีวิตวิถีใหม่ แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องคงอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ในช่วงเวลาเช่นนี้อีกระยะหนึ่ง นายกรัฐมนตรี จึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
๑. การเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียน , สถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
การใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน , สถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัย เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรม ให้ดำเนินการได้ โดยการเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอน ให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีเป็นผู้กำหนด ซึ่งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องจัดให้มีความพร้อม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการติดโรค การแพร่กระจายเชื้อ และความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ
๒. การเปิดดำเนินการสถานที่และกิจกรรมต่าง ๆ
ให้สถานที่ , กิจการ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยผ่อนคลายหรืออนุญาตให้เปิดดำเนินการได้แล้ว คงดำเนินการได้ต่อไป ภายใต้เงื่อนไข , เงื่อนเวลา รวมทั้งมาตรการป้องกันโรค และการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ ตามกำหนดเดิมสำหรับ สถานที่ , กิจการ และกิจกรรมอื่น ที่มีความเสี่ยงนอกเหนือจากที่ได้ผ่อนคลาย หรือได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้ว จะสามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
๒.๑ ห้างสรรพสินค้า , ศูนย์การค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ , ศูนย์แสดงสินค้า , ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ สามารถเปิดดำเนินการตามกำหนดเวลาทำการปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ น.
สำหรับร้านสะดวกซื้อ , ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการตามกำหนดเวลาทำการปกติของสถานที่นั้น ๆ
๒.๒ สถานบริการ , สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ , ผับ , บาร์ , คาราโอเกะ ผ่อนผันให้เปิดดำเนินการได้ โดยเปิดทำการตามเวลาปกติที่กฎหมายกำหนด จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันเดียวกัน และงดเว้นการจัดกิจกรรม ส่งเสริมการขาย
ในส่วนของการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร , สวนอาหาร , โรงแรม , ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป สามารถเปิดให้บริการหลังเวลา ๒๔.๐๐ น. ได้ แต่งดการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในสถานที่ที่ให้บริการหลังเวลาดังกล่าว
๒.๓ ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดช่วงเวลาการให้บริการ
๒.๔ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ,โรงน้ำชา ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาเปิดทำการปกติที่กฎหมายกำหนด
สำหรับสนามชนโค , สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ
๓. การปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธีของทุกศาสนา
การปฏิบัติศาสนกิจ หรือศาสนพิธีในวันสำคัญทางศาสนา หรือตามประเพณีนิยม ณ ศาสนสถานใด ให้ผู้ปกครองที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในศาสนสถานนั้น พิจารณาให้สอดคล้องกับมาตรการ , แนวปฏิบัติ หรือคำแนะนำขององค์กรปกครองทางศาสนานั้น ๆ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
๔. การขนส่งสาธารณะ
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และรองรับการเดินทางที่อาจหนาแน่นขึ้น ภายหลังที่ได้มีการเปิดเรียน และการเปิดทำการของสถานที่ต่าง ๆ แล้ว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเตรียมความพร้อม กำกับดูแล และตรวจสอบการขนส่ง ผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยต้องมีการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
๕. การผ่อนผันการใช้ช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร เฉพาะเพื่อการขนส่งสินค้า
เพื่อบรรเทาผลกระทบและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณาเปิดช่องทางเข้าออก ,ด่านจุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรนในพื้นที่รับผิดชอบ เฉพาะเพื่อการนำเข้าส่งออกสินค้า และสินค้าผ่านแดนได้ตามความจำเป็น โดยต้องมีมาตรการป้องกันโรคและกำกับการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ และเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
๖. มาตรการป้องกันโรค
ให้เจ้าของ , ผู้จัดการสถานที่ หรือผู้จัดให้มีกิจกรรมใด ๆ ทางธุรกิจ , การคมนาคม , มหรสพ , สนามกีฬา , สถานบันเทิง , สถานบริการ , ที่สาธารณะ หรือแหล่งอื่น ๆ ซึ่งมีการรวมกลุ่มหรือร่วมกิจกรรมลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิด สัมผัสและแพร่เชื้อโรคไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้ร่วมกิจกรรมนั้น ๆ ดังต่อไปนี้
๖.๑ บริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ
๖.๒ ให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
๖.๓ อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย ๑ เมตร และจำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด
๖.๔ จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ , แอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
๖.๕ จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ก่อนการทำกิจกรรม รวมทั้งระหว่างและภายหลังการทำกิจกรรมด้วย
พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจจัดหรือกำหนดให้มีการติดตั้งระบบแอปพลิเคชันติดตามตัว เพื่อให้มารับการตรวจหาเชื้อ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการสัมผัสผู้ติดเชื้อก็ได้
๗. การรักษาความเรียบร้อยตามมาตรการป้องกันโรค
ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ , กิจการ , หรือกิจกรรมที่ได้ผ่อนคลาย หรืออนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้ว จัดให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งดำเนินการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามคำแนะนำ , เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตามที่ทางราชการกำหนด
ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ และการดำเนินการของเจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ หรือผู้จัดให้มีกิจกรรม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่ อาจให้คำแนะนำ , ตักเตือน , ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลา เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินการปรับปรุง , แก้ไข , ป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีคำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราว และอาจดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายต่อผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้