ด้วย สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอบางปะกง แจ้งว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้รับแจ้งจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -๑๙ ที่ส่งผลกระทบให้ประชาชนบางกลุ่มขาดรายได้ ไม่สามารถมีรายได้เพียงพอสำหรับจัดหาอาหารให้กับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งถือเป็นกลุ่มวัยที่เปราะบาง ต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเหมาะสม เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัย จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงนำมาซึ่งการระดมทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อจัดหาซื้อนมผงและนมสำหรับเด็ก ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริจาคและผู้ขอรับบริจาค พร้อมทั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.๒๕๖๐ ทางกรมอนามัย ได้จัดทำแนวทางสำหรับการบริจาคนมผงและนมสำหรับเด็ก ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด – ๑๙ ดังนี้
๑. ข้อแนะนำสำหรับผู้บริจาคที่เป็นประชาชน องค์กร หรือหน่วยงานทั่วไป
๑.๑ กรมอนามัยขอเชิญชวนให้ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือแม่และเด็ก ร่วมบริจาคเงินแทนการบริจาคนมผง เพราะจะช่วยให้ครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตรงกับความต้องการมากที่สุด โดยให้แก่ครอบครัวของทารกและเด็กทุกคนที่เดือดร้อน เพราะการบริจาคเงิน สามารถช่วยให้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้ซื้ออาหารที่มีประโยชน์กิน เพื่อให้แม่มีโภชนาการที่ดี เพียงพอสำหรับให้นมลูก และการบริจาคเงินสามารถช่วยให้ครอบครัวที่ต้องใช้นมอื่น ๆ ได้ซื้อนมที่ตรงกับความต้องการของเด็ก เนื่องจากนมผงที่ได้รับบริจาคมาอาจไม่ตรงตามความต้องการของเด็ก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กได้
๑.๒ ในกรณีที่ต้องการบริจาคเป็นนม ขอให้พิจารณาจัดหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับอายุของเด็ก ดังนี้
๑)กลุ่มเป้าหมายที่เป็นทารกอายุต่ำกว่า ๑ ปี ขอให้ผู้บริจาคจัดหานมผงสูตรสำหรับทารก หมายถึง นมผงสูตรที่ระบุ ให้ใช้สำหรับเลี้ยงทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๑ ปี (นมสูตร ๑) เป็นหลัก เนื่องจาก เด็กที่ไม่ได้กินนมแม่จำเป็นต้องกิน นมผงจนกว่าจะอายุครบ ๑ ปี
๒)กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กเล็กอายุ ๑ ปี ขึ้นไปถึง ๓ ปี ขอให้ผู้บริจาคจัดหานมกล่อง UHT รสจืดเป็นหลัก เนื่องจาก ในวัยนี้แม้จะกินข้าวเป็นอาหารหลัก และยังกินนมแม่ต่อได้ แต่ควรได้ดื่มนมสดวันละอย่างน้อย ๒ กล่อง (๔๐๐ ซีซี) และเด็กอายุมากกว่า ๑ ปี ไม่มีความจำเป็นต้องใช้นมผง
๑.๓ ในการแจกนม ขอให้ผู้ดำเนินการแจก “คัดกรองและลงทะเบียน” ครอบครัวอย่างเป็นระบบ ตามขั้นตอนดัง ต่อไปนี้
๑)ผู้แจกที่เป็นประชาชน หรือหน่วยงานภาคเอกชน ขอให้ประสานหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เพื่อช่วยค้นหากลุ่มแม่ และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด - ๑๙
๒)หน่วยงานรัฐในพื้นที่ จัดทำทะเบียนแม่และครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้ทราบจำนวนของกลุ่ม เป้าหมาย สำหรับติดตามและวางแผนการให้ความช่วยเหลือระยะยาวได้
๓)ในการแจก ขอให้ผู้แจกพิจารณานมที่เหมาะสมตรงตามอายุของเด็ก โดยแจกจ่ายนมผงสำหรับทารก ให้แก่ ครอบครัวที่มีลูกอายุต่ำกว่า ๑ ปี ที่เด็กไม่ได้กินนมแม่แล้ว และแจกนมกล่อง UHTรสจืด ให้แก่ครอบครัวที่มีเด็กอายุ ๑ ปี ขึ้นไป
๔)ในการแจก ขอให้ไม่มีรูปภาพ หรือข้อความในลักษณะที่สื่อสาร หรือมีความหมายที่ทำให้เข้าใจได้ว่า นมผงเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ทารกต้องกินนมผงเท่านั้น หรือเชิญชวนให้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ก่อนแล้วมาเปลี่ยนให้ลูกกินนมผง รวมทั้งในการจัดทำข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ หรือจัดทำบันทึก ขอให้ไม่มีการถ่ายภาพกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ของ นมผงที่นำไปแจกจ่าย
๕)ไม่แจกนมผงให้กับแม่ที่เพิ่งคลอดลูก และแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ก่อนแล้ว เพราะจะเป็นการตัดโอกาสที่เด็กจะได้กินนมแม่ หากแม่เปลี่ยนใจจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาเลี้ยงด้วยนมผง เพราะได้รับนมผงบริจาค จะกลายเป็นภาระระยะยาวให้ครอบครัว เพราะต้องซื้อนมผงให้ลูกกินเองต่อเนื่องจนถึง ๑ ปี โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ ๔,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ บาท (ตามประเภทและยี่ห้อของนมผง)ซึ่งนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารก มีประโยชน์ทางด้านโภชนาการ มีภูมิคุ้มกันการให้นมลูก เป็นกระบวนการสร้างความผูกพันระหว่างแม่และลูก
๒. ข้อกำหนดสำหรับผู้บริจาคที่เป็นผู้ผลิตผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารกหรือตัวแทน
๒.๑ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ๒๕๖๐ มีข้อกำหนดที่ เกี่ยวข้องกับการบริจาค หรือแจกจ่ายนมผง ดังนี้
๑)ในมาตรา ๑๘ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารก หรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก หรือตัวแทน ไม่สามารถให้อาหารสำหรับทารกแก่แม่ และครอบครัวที่มีลูกอายุต่ำกว่า ๓ ปี และไม่สามารถแจกอาหารสำหรับทารกได้
๒)ในมาตรา ๒๓ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารก หรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก หรือตัวแทน ไม่สามารถบริจาคอาหารสำหรับทารก ให้แก่หน่วยบริการสาธารณสุข และบุคลากรด้านสาธารณสุขได้
๒.๒ ในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารก หรือตัวแทน ต้องการบริจาคนมผง เพื่อช่วยเหลือแม่และครอบครัว จะต้องดำเนินการดังนี้
๑)มอบเงินหรือนมผงให้แก่หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรด้านแม่และเด็ก เป็นผู้รับแทน เท่านั้น ไม่สามารถมอบให้แก่แม่และครอบครัวโดยตรง หรือผ่านบุคคลอื่น
๒)การมอบนมผงให้ ต้องเป็นไปตามการร้องขอ มีหลักฐานการขอรับสนับสนุนจากหน่วยงานที่ตรวจสอบได้
๓)การมอบนมผงให้ ต้องเป็นการให้เปล่า โดยไม่มีข้อผูกมัดเพื่อการตอบแทนใด ๆ ไม่มีการขอรายชื่อผู้รับบริจาค รวมทั้ง ไม่มีการติดต่อกับแม่และครอบครัวที่ได้รับบริจาคนมผง ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
๔)ในการมอบนมผง ขอให้ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ไม่มีการทำข่าว ไม่มีการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง ไม่มีการระบุยี่ห้อนมผง หรือแสดงรูปผลิตภัณฑ์นมผง เพื่อการโฆษณาในทุกรูปแบบ ทั้งจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารก หรือตัวแทน และผู้รับมอบ
๕)ขอให้จัดทำรายงานการบริจาคนมผง โดยใช้แบบการบริจาคอาหารสำหรับทารก หรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก ที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ และการบริจาคอาหารสำหรับทารก หรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก ในกรณีจำเป็นที่รวบรวมข้อมูลเช่นเดียวกับการการบริจาค ตามมาตรา ๒๓ และส่งให้กรมอนามัยตามที่กำหนด
๖)การมอบนมผง หรือการดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ขัดกับพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ๒๕๖๐ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
๒.๓ ข้อกำหนดในการบริจาค โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารก หรือตัวแทน ขอให้ใช้ในเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - ๑๙ เท่านั้น
หมายเหตุ : อาหารสำหรับทารก หมายถึง นมผงที่ระบุให้ใช้สำหรับทารก ซึ่งในท้องตลาดจะระบุช่วงอายุ คือ นมผงสูตร ๑ สำหรับทารกแรกเกิดถึง ๑ ปี และนมผงสูตร ๒ สำหรับทารกอายุตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๓ ปี